วันเสาร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2558

นาฎศิลป์ไทย

                   บทที่ 1 การสืบสานนาฎศิลป์ไทย

คุณค่าและประโยชน์ของนาฎศิลป์ไทย

   นาฏศิลป์ถือเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของมนุษยชาติ ควรที่มนุษย์ควรรู้จัก เข้าใจศึกษา และนำมาใช้ให้เกิด
ประโยชน์แก่ตนเอง แก่ผู้อื่น และแก่สังคมโดยส่วนรวม โดยพิจารณาว่า นาฏศิลป์มีส่วนใดบ้างในการดำเนินชีวิตของมนุษย์
 ทั้งที่เป็นกิจกรรมส่วนตัวและส่วนรวมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มนุษย์ได้ใช้นาฏศิลป์เป็นกิจกรรมส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของการ
ดำรงชีวิตในเวลาปกติ และในโอกาสพิเศษอยู่ตลอดเวลา ซึ่งอาจสรุปได้ว่า มนุษย์เราได้รับคุณค่าจากนาฏศิลป์ไทย ดังนี้
     ๑.เพื่อการสื่อสาร
 นาฏศิลป์เป็นกระบวนการหนึ่งที่มนุษย์ใช้ในการสื่อสาร ธรรมชาติเอื้อให้มนุษย์ใช้ร่างกายประกอบการเล่าเรื่องเพื่อให้การเล่าเรื่องตื่นเต้นสนุกสนาน
     ๒. เพื่องานพิธีกรรมต่างๆ 
นาฏศิลป์ใช้เป็นเครื่องดนตรีที่พลังพิเศษ หรือเป็นอำนาจเหนือธรรมชาติในตัวเองของผู้ทำหน้าที่เป็นพ่อมดหรือหมอผี
    ๓. เพื่องานพิธีการต่างๆ ในสังคมหนึ่งย่อมมีพิธีการต่างๆ ของมนุษย์ แต่ละพิธีการมีความสัมพันธ์แตกต่างกันออกไป เช่น

 พิธีการต้อนรับแขกเมืองสำคัญ    ๔. เพื่อความบันเทิงและการสังสรรค์  มนุษย์มักมีการพบปะสังสรรค์กันในโอกาสต่างๆ อยู่เสมอ เช่น การจัดงานรื่นเริง
ตามฤดูกาล เพื่อเฉลิมฉลองเมื่อสิ้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวอันเหน็ดเหนื่อย
ตามฤดูกาล เพื่อเฉลิมฉลองเมื่อสิ้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวอันเหน็ดเหนื่อย    ๕. เพื่อการออกกำลังกายและพัฒนาบุคลิกภาพ การฝึกหัดรำไทยต้องอาศัยกำลังในการฝึกซ้อมและ ในการแสดงอย่างมาก เหมือนกับได้ออกกำลังกายอยู่ตลอดเวลา
    ๖. เพื่อการอนุรักษ์และเผยแพร่ นาฏศิลป์เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชุมชน ในชุมชนหนึ่งๆ มักมีการสืบทอด
และอนุรักษ์วัฒนธรรมทางนาฎศิลป์ของตนเอาไว้มิให้สูญหาย มีการสอนมีการแสดงและเผยแพร่นาฏศิลป์ไทยให้ท้องถิ่นอื่น
 หรือนำไปเผยแพร่ในต่างแดน

สุนทรียภาพของการแสดงนาฎศิลป์ไทย

       เมื่อกล่าวถึงสุนทรียภาพในทางศิลปะ ย่อมเกี่ยวข้องกับความปีติในการชื่นชม (Pleasure) เกี่ยวข้องกับจริยธรรม (Ethics) ไม่ว่าศิลปะจะกระตุ้นให้เกิดจริยธรรมหรือศิลปะในตัวตนของมันเองคือ “จริยธรรม” ความดีงาม ความประณีต ความอ่อนโยน ไม่ว่าจะเป็นทัศนศิลป์ ดนตรี ศิลปะการแสดง หรือศิลปะอื่นใดก็ตาม ศิลปะการแสดง (Performing Art) หมายความถึงนาฏศิลป์ (Dance) และการแสดงอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโขน ละคร หนังใหญ่ หุ่นกระบอก หนังตะลุง ฯลฯ ทั้งนาฏศิลป์ไทย นาฏศิลป์สากล การแสดงของไทยและการแสดงสากล ศิลปะการแสดงในสังคมไทยขณะนี้มีทั้งศิลปะการแสดงสากลและศิลปะการแสดงของไทย ศิลปะการแสดงของไทยก็มีทั้งศิลปะการแสดงซึ่งพัฒนาขึ้นในวัง เมื่อครั้งที่ไทยปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช เช่น โขน ละครใน ละครดึกดำบรรพ์ ละครพันทาง ละครสังคีต และศิลปะการแสดงซึ่งพัฒนาขึ้นในชุมชน มีลักษณะเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้าน เช่น โนรา หนังใหญ่ หนังตะลุง ลิเก เพลงเรือ เพลงฉ่อย ละครนอก 

ลักษณะและกระบวนการสืบทอดนาฎศิลป์ไทย

         ความสทุกคนต้องให้ความสำคัญกับหน้าที่เฝ้าระวังมรดกทางวัฒนธรรม โดยสามารถแยกแยะและปรับใช้สิ่งที่ดีงามให้เหมาะสมกับวิถีชีวิต รวมถึงกระทรวงวัฒนธรรมก็ต้องมีการสัมมนาแลกเปลี่ยนระดมความคิดระหว่างผู้ทรง คุณวุฒิ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ในการจัดระบบข้อมูล มาตรวัดเชิงวิชาการด้านนาฏศิลป์ไทยเพื่อเป็นการกำหนดมาตรฐานศิลปะการแสดงได้ อย่างชัดเจน โดยไม่ขัดต่อวัฒนธรรม รวมถึงไม่ละเมิดวัฒนธรรมด้วย
การที่จะไม่ให้นาฏศิลป์ไทยถูกกลืนไปนั้น      เด็กไทยควรได้เรียนรู้และปฏิบัติเกี่ยวกับนาฏศิลป์ไทยตั้งแต่วัยเยาว์ จนรู้สึกเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวันเพื่อให้เยาวชนของชาติทุกคนได้รู้ว่า "นาฏศิลป์ไทย" คืออะไร ส่วนเมื่อเขาเติบโตขึ้น จะสนใจศาสตร์หรือศิลปะในสาขาอื่นใด หรือจะนำเอานาฏศิลป์ไทยไปประยุกต์เข้ากับนาฏศิลป์ประเทศอื่นก็ให้เป็นทาง เลือกของแต่ละคน แต่ที่แน่ๆ เด็กไทยได้สืบสานและแยกแยะได้ว่าสิ่งใดคือนาฏศิลป์ไทย
การพัฒนาปรับปรุงมิให้การแสดงของไทยเกิดความซ้ำซากจำเจหรือยึดติดกับวิธีการ เดิมๆ ทางหนึ่ง คือ การพัฒนาเรื่องฉาก เวที และเทคนิคสมัยใหม่ รวมทั้งในเรื่องแสงและเสียง ซึ่งมีผลต่อการรับรู้ของผู้ดูแต่การเปลี่ยนแปลงมากเกินไปอาจจะนำไปสู่ความ เสียหาย หากเปิดใจรับวิทยาการใหม่ๆ ก็เป็นการปรับปรุงมรดกเก่าให้อยู่รอดได้ รักษาความเป็นตัวเองมิให้สูญสลายหากไม่เปลี่ยนแปลงเลยก็จะนำไปสู่ความเสื่อม โทรม
อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญในการสร้างและพัฒนานาฏศิลป์ คือ การประสานกันในทุกฝ่ายเพื่อสร้างเอกลักษณ์ของงานชิ้นนั้นให้ปรากฏขึ้นมา เป็นการเรียกร้องและท้าทายสติปัญญาามารถ ความคิดสร้างสรรค์ และความมีรสนิยมจากผู้รู้ทุกสาขา


 

 

บทที่ 2 การแสดงนาฎศิลป์ไทย 

ระบำ รำ ฟ้อน


        นาฏศิลป์ เป็นการรวมความเป็นเลิศของศิลปะแขนงต่าง ๆ วิวัฒนาการมาพร้อมกับความเจริญของมนุษย์ โดยอาศัยพลังและเจตนา เป็นเครื่องผลักดันให้จิตกระตุ้นร่างกายให้แสดงการเคลื่อนไหว มีจังหวะ มีแบบแผน เพื่อให้เกิดความสุข ความเข้าใจ และความงดงามแก่ตนเองและผู้อื่น  นาฏศิลป์ไทย เป็นศิลปวัฒนธรรมประจำชาติแต่โบราณ เป็นศิลปะชั้นสูง แยกประเภทการแสดงออกเป็นหลายแบบ ใช้ภาษาท่าเหมือนกันแต่แยกลักษณะและประเภทการแสดงแตกต่างกัน  ขอบ ข่ายของนาฏศิลป์ไทย จำแนกเป็นประเภทต่างๆ ได้แก่ โขน หนัง หุ่น ละครรำ ละครรำ ละครร้อง ละครสังคีต ละครพูด การละเล่นของหลวงการเล่นเบิกโรงการละเล่นพื้นเมือง

        นาฏศิลป์ไทยประเภทต่างๆ ดังกล่าวมานี้ เรียกกันโดยทั่วไปว่า "มหรสพ" ซึ่งหมายถึงการเล่นรื่นเริง มีโขน ละคร หรือสิ่งที่คล้ายคลึงกัน ปัจจุบันมหรสพมีความหมายกว้างขวาง รวมไปถึงการเล่นรื่นเริงทุกชนิด มีระบำ รำ ฟ้อน เป็นต้น

      ระบำ คือ ศิลปะของการร่ายรำที่แสดงพร้อมกันเป็นหมู่เป็นชุด ความงามของการแสดงระบำ อยู่ที่ความสอดประสานกลมกลืนกัน ด้วยความพร้อมเพรียงกัน  การแสดงมีทั้งเนื้อร้องและไม่มีเนื้อร้อง ใช้เพียงดนตรีประกอบ  คำว่า "ระบำ" รวมเอา "ฟ้อน" และ "เซิ้ง" เข้าไว้ด้วยกัน เพราะวิธีการแสดงไปในรูปเดียวกัน แตกต่างกันที่วิธีร่ายรำ และการแต่งกายตามระเบียบประเพณีตามท้องถิ่น

ระบำ แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ระบำดั้งเดิมหรือระบำมาตรฐาน และระบำปรับปรุงหรือระบำเบ็ดเตล็ด

     รำ หมายถึง การแสดงที่มุ่งความงามของการร่ายรำ เป็นการแสดงท่าทางลีลาของผู้รำ โดยใช้มือแขนเป็นหลัก

1. การรำเดี่ยว คือ การรำที่ใช้ผู้แสดงเพียงคนเดียว จุดมุ่งหมายคือ

     1.1  ต้องการอวดฝีมือในการรำ

     1.2 ต้องการแสดงศิลปะร่ายรำ

     1.3 ต้อง การสลับฉากเพื่อรอการจัดฉากหรือตัวละครแต่งกายยังไม่เสร็จเรียบร้อย การรำเดี่ยว เช่น การรำฉุยฉายต่าง ๆ รำมโนราห์บูชายัญ รำพลายชุมพล ฯลฯ

2.  การรำคู่  แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ รำคู่ในเชิงศิลปะการต่อสู้ ไม่มีบทร้อง และรำคู่ในชุดสวยงาม

     2.1  การรำคู่ในเชิงศิลปะการต่อสู้ ได้แก่ กระบี่ กระบอง ดาบสองมือ โล่ ดาบ เขน ดั้ง ทวน และรำกริชเป็นการรำไม่มีบทร้องใช้สลับฉากในการแสดง 

     2.2  การรำคู่ในชุดสวยงาม ท่ารำในการรำจะต้องประดิษฐ์ให้สวยงาม ทั้งท่ารำที่มีคำร้องตลอดชุด หรือมีบางช่วงเพื่ออวดลีลาท่ารำ มีบทร้องและใช้ท่าทางแสดงความหมายในตอนนั้น ๆ ได้แก่ หนุมานจับสุพรรณมัจฉา หนุมานจับนางเบญกาย พระรามตามกวาง พระลอตามไก่ รามสูร เมขลา รจนาเสี่ยงพวงมาลัย ทุษยันต์ตามกวาง รำแม่บท รำประเลง รำดอกไม้เงินทอง รถเสนจับม้า

3.  การรำหมู่  เป็นการแสดงมากกว่า 2 คนขึ้นไป ได้แก่ รำโคม ญวนรำกระถาง รำพัด รำวงมาตรฐาน และรำวงทั่วไป การแสดงพื้นเมืองของชาวบ้าน เช่น เต้นกำรำเคียว รำกลองยาว  

     ฟ้อน  หมายถึง ศิลปะการแสดงที่เป็นประเพณีของทางภาคเหนือ จะใช้ผู้แสดงเป็นจำนวนมาก

มีลีลาการฟ้อนพร้อมเพรียงกันด้วยจังหวะที่ค่อนข้างช้า 









การแสดงนาฎศิลป์พื้นเมืองของไทยในแต่ละท้องถิ่น

การแสดงพื้นเมือง 

   หมายถึง การแสดงที่เกิดขึ้นตามท้องถิ่นและตามพื้นที่ต่างๆ ของแต่ละภูมิภาค โดยอาจมีการพัฒนา ดัดแปลงมาจากการละเล่นพื้นเมืองของท้องถิ่นนั้นๆ     การแสดงพื้นเมือง เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า ที่บรรพบุรุษไทยได้สั่งสม สร้างสรรค์ และสืบทอดไว้เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ เพื่อให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้เรียนรู้และรักในคุณค่าในศิลปะไทยในแขนงนี้ เกิดความภาคภูมิใจในความเป็นไทย และพร้อมที่จะช่วยสืบทอด จรรโลง และธำรงไว้เป็นสมบัติของชาติสืบไป     การแสดงพื้นเมือง เป็นการแสดงเพื่อก่อให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน และความบันเทิงในรูปแบบต่างๆ ซึ่งจะมีลักษณะแตกต่างกันตามสภาพภูมิประเทศ สังคม วัฒนธรรม แต่ละท้องถิ่น ดังนั้นการแบ่งประเภทของการแสดงพื้นเมืองของไทย โดยทั่วไปจะแบ่งตามส่วนภูมิภาค ดังนี้๑.      การแสดงพื้นเมืองของภาคเหนือ                                                         

๒.    การแสดงพื้นเมืองของภาคกลาง

๓.     การแสดงพื้นเมืองของอีสาน

๔.     การแสดงพื้นเมืองของใต้

กล่าวได้ว่าการแสดงพื้นเมืองในแต่ละภาคจะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันในเรื่องของมูลเหตุแห่งการแสดง ซึ่งแบ่งออกได้ดังนี้๑.      แสดงเพื่อเซ่นสรวงหรือบูชาเทพเจ้า เป็นการแสดงเพือแสดงความเคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือเซ่นบวงสรวงดวงวิญญาณที่ล่วงลับ

๒.    แสดงเพื่อความสนุกสนานในเทศกาลต่างๆ เป็นการรำเพื่อการรื่นเริง ของกลุ่มชนตามหมู่บ้าน ในโอกาสต่างๆ หรือเพื่อเกี้ยวพาราสีกันระหว่าง ชาย – หญิง

๓.     แสดงเพื่อความเป็นสิริมงคล เป็นการรำเพื่อแสดงความยินดีในโอกาสต่างๆ หรือใช้ในโอกาสต้อนรับแขกผู้มาเยือน

๔.     แสดงเพื่อสื่อถึงเอกลักษณ์ของท้องถิ่นอันเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ และวัฒนธรรมประเพณีเพื่อสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จัก


การแสดงพื้นเมืองภาคเหนือ   ศิลปะการแสดงทางภาคเหนือ เป็นลักษณะศิลปะที่มีการผสมผสานกันระหว่างชนพื้นเมืองชาติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไทยลานนา  ไทยใหญ่ เงี้ยว รวมถึงพวกพม่าที่เคยเข้ามาปกครองล้านนาไทย ทำให้นาฏศิลป์หรือการแสดงที่เกิดขึ้นในภาคเหนือมีความหลากหลาย แต่ยังคงมีเอกลักษณ์เฮพาะที่แสดงถึงความนุ่มนวลของท่วงท่า และทำนองเพลงประกอบกับความไพเราะของเครื่องดนตรีประเภทเครื่องดีด สี ตี เป่า ที่มีความเด่นชัด ไม่ว่าจะเป็น เป้ยะ สล้อ ซอ ซึง และกลอง ที่ปรากฏอยู่ในการฟ้อนประเภทต่างๆ รวมทั้งการแสดงที่มีความเข้มแข็ง หนักแน่นในแบบฉบับของการตีกลองสะบัดชัย และการตบมะผาบ     การแสดงพื้นเมืองภาคเหนือนอกจะมีลักษณะเป็นแบบพื้นเมืองเดิม ไทยลานนา  ไทยใหญ่ เงี้ยวรวมถึงพม่า ผสมกันอยู่แล้ว ยังมีลักษณะการแสดงของภาคกลางรวมอยู่ด้วย ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากการที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชายา พระนามว่าเจ้าดารารัศมี พระราชธิดาของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ และเจ้าแม่ทิพเกสร  เจ้าเมืองเชียงใหม่ ทำให้อิทธิพลการแสดงของภาคเหนือในสมัยพระราชชายาเจ้าดารารัศมีมีลักษณะของภาคกลางปะปนอยู่บ้าง ทำให้สามารถแบ่งลักษณะการแสดงพื้นเมืองภาคเหนือได้เป็น ๓ ลักษณะ

๑.ลักษณะการฟ้อนแบบพื้นเมืองเดิม เป็นการแสดงที่มีอยู่ตามท้องถิ่นทั่วไป เช่น ฟ้อนครัวทาน ฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน เป็นต้น

๒.ลักษณะการฟ้อนที่ได้รับอิทธิพลจากชาติอื่น อาทิ พม่า ไทยใหญ่ เงี้ยว เช่น ฟ้อนไต ฟ้อนโต ฟ้อนเงี้ยว เป็นต้น

๓.ลักษณะการฟ้อนแบบคุ้มหลวง เป็นการฟ้อนที่เกิดขึ้นในคุ้มของพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ซึ่งมีลักษณะการฟ้อนของภาคกลางผสมอยู่ เช่น ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา  ฟ้อนน้อยใจยา เป็นต้น     ปัจจุบันการแสดงพื้นเมืองภาคเหนือ วิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่ สร้างสรรค์จากท่า และทำนองเพลงพื้นเมืองล้านนา ใช้หัตกรรมพื้นบ้านเป็นอุปกรณ์ประกอบการแสดง เช่น ฟ้อนผาง ฟ้อนที เป็นต้น

 การแสดงพื้นเมืองภาคเหนือ  ได้แก่

- ฟ้อนผีมด ฟ้อนผีเม็ง เป็นการบูชาผีบรรพบุรุษ

- ฟ้อนกิงกะหลา เป็นการฟ้อนเรียนแบบนก มีลักษณะเป็นการรำคู่ เกี้ยวพาราสีหรือหยอกล้อเล่นหัวกัน

- ฟ้อนผีนางดัง เป็นการฟ้อนของชาวล้านนา นิยมเล่นในเทศกาลตรุษสงกรานต์

- ฟ้อนเจิง เป็นการฟ้อนที่แสดง ถึงศิลปะการป้องกันตัวด้วยมือเปล่า

- ฟ้อนดาบ เป็นการแสดงถึงศิลปะการป้องกันตัวด้วยมีดดาบ

- ฟ้อนจ๊าด เป็นการฟ้อนที่เล่นเป็นเรื่องราวแบบโบราณ นิยมแสดงในงานศพ และงานเทศกาลต่างๆ

- ตบมะผาบ เป็นการฟ้อนด้วยมือเปล่า โดยใช้มือตบไปตามร่างกายด้วยความรวดเร็ว เพื่อให้เกิดเสียงดัง

- ฟ้อนเล็บ เป็นการฟ้อนแบบดั้งเดิมที่มีความสวยงาม โดยผู้ฟ้อนสวมเล็บสีทอง

- ฟ้อนเทียน เป็นการฟ้อนแบบดั้งเดิมเช่นเดียวกับฟ้อนเล็บ แต่จะฟ้อนเวลากลางคืน โดยผู้ฟ้อนจะถือเทียน

- ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา เป็นการฟ้อนที่พระราชชายา เจ้าดารารัศมีทรงประดิษฐ์ร่วมกับครูช่างฟ้อนของพม่า โดยใช้ท่ารำของราชสำนักพม่าผสมท่าฟ้อน โดยใช้ท่ารำของสำนักพม่าผสมท่าฟ้อนของไทย

- ฟ้อนล่องน่าน หรือฟ้อนน้อยใจยา เป็นการฟ้อนเพื่อใช้ประกอบการแสดงละครเรื่องน้อยใจยา มีลักษณะการรำคู่ระหว่างชายกับหญิง

- ฟ้อนสาวไหม เป็นการฟ้อนที่แสดงถึงกรรมวิธีการทอผ้าไหม ซึ่งเป็นอาชีพของชาวไทยภาคเหนือ

- ฟ้อนเก็บใบชา เป็นการฟ้อนที่แสดงถึงกรรมวิธีการเก็บใบชา ซึ่งเป็นอาชีพของชาวไทยภาคเหนือ

- ฟ้อนปั่นฝ้าย เป็นการฟ้อนที่นิยมแสดงเพื่อคั่นการขับซอ ผู้ฟ้อนจะแสดงกิริยาเลียนแบบการปั่นฝ้าย

- ฟ้อนหางนกยูง เป็นการฟ้อนที่ใช้หางนกยูงเป็นอุปกรณ์ประกอบ เป็นการฟ้อนเพื่อแสดงเอกลักษณ์ของชาวล้านนา มีหางนกยูงเป็นอุปกรณ์ประกอบการแสดง

- ฟ้อนที เป็นการฟ้อนโดยใช้ผู้แสดงหญิงล้วน แต่งกายพื้นเมือง ใช้ทำนองเพลงเหมยมุงเมือง

- ฟ้อนผาง เป็นการฟ้อนโดยใช้ผู้แสดงหญิงล้วน แต่งกายพื้นเมือง อุปกรณ์ประกอบการแสดง คือ ตะคันดินเผาจุดเทียน

การแสดงพื้นเมืองภาคใต้  ด้วยเหตุที่ภาคใต้เป็นภาคที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศมาลาเชีย และเป็นดินแดนที่ติดทะเล ทำให้เกิดการผสมผสานทั้งทางศาสนา วัฒนธรรม และอารยธรรมจากกลุ่มชนหลายเชื้อชาติ เกี่ยวโยงถึงศาสนาและพิธีกรรม จนทำให้นาฏศิลป์ และดนตรีในภาคใต้มีลักษณะที่เป็นเครื่องบันเทิงทั้งในพิธีกรรม และพิธีชาวบ้าน รวมทั้งงานรื่นเริงโดยมีลักษณะการแสดงที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ คือมีจังหวะที่เร่งเร้า กระฉับกระเฉง ผิดจากภาคอื่นๆ และเน้นจังหวะมากกว่าท่วงทำนอง โดยมีลักษณะที่เด่นชัดของเครื่องดนตรีประเภทเครื่องตีให้จังหวะเป็นสำคัญ ส่วนลีลาท่ารำจะมีความคล่องแคล่วว่องไว สนุกสนาน การแสดงพื้นเมืองภาคใต้มีทั้งแบบพื้นเมืองเดิม และแบบประยุกต์ที่ได้แนวความคิดมาแล้วพัฒนาขึ้นเป็นรูปแบบใหม่ หรือรับมาบางส่วนแล้วแต่งเติมเข้าไป

 การแสดงพื้นเมืองภาคใต้  ได้แก่

- หนังตะลุง  เรียกว่า “หนัง” หรือ “หนังควน” ในสมัยโบราณนิยมแสดงในงานนักขัตฤกษ์ และงานฉลองต่างๆ

- ลิเกป่า เป็นการแสดงพื้นเมืองภาคใต้อีกอย่างหนึ่ง นิยมแสดงในงานทั่วไปหรือใช้ในงานแก้บน

- โนรา เป็นการแสดงแบบโบราณที่มีมาช้านาน นิยมแสดงเพื่อความเป็นสิริมงคล

- โต๊ะครึม เป็นการแสดงประกอบการเข้าทรง เพื่อบูชาสิ่งศักสิทธิ์ หรือบูชาวิญญาณบรรพบุรุษ

- สิละ เป็นศิลปะการต่อสู้ด้วยมือเปล่า

- รองเง็ง เป็นการแสดงของชาวไทยมุสลิมที่ได้รับความนิยมมาก เป็นการเต้นรำระหว่างหญิง-ชาย ในงานมงคล

- ซัมเป็ง เป็นการรำตามจังหวะเพลง แสดงในงานรื่นเริงต่างๆหรืองานต้อนรับแขกเมือง

- มะโยง เป็นศิลปะการแสดงละครของชาวไทยมุสลิมจากวังรายา เมืองปัตตานีในอดีต ใช้ผู้แสดงส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ยกเว้นตัวตลก พระเอกเรียกว่าเปาะโย่ง นางเอกเรียกว่ามะโยง

- ตารีกีปัส เป็นการรำพัด ซึ่งเกิดจากการผสมผสานกับการแสดงของมาเลเซียในเพลงชื่อบัวกาน่า วงดนตรีพื้นบ้านผสมสากล แสดงได้สองแบบคือชาย-หญิง และหญิงล้วน

- ร่อนแร่ เป็นการแสดงที่นำกรรมวิธีร่อนแร่มาสร้างสรรค์ลีลาท่ารำ

- ปาแต๊ะ เป็นการแสดงระบำพื้นเมือง ลีลาท่ารำนำมาจากกรรมวิธีการย้อมทำลวดลายโสร่งปาเต๊ะของไทยมุสลิม ใช้ผู้หญิงแสดงล้วน

การแสดงพื้นเมืองของภาคกลาง   ภาคกลางเป็นภาคที่มีความอุดมสมบูรณ์ ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านกสิกรรม และเกษตรกรรม ทำให้เป็นภาคที่มีความสมบูรณ์ ประชาชนมีความเป็นอยู่สุขสบาย การแสดงหรือการละเล่น ที่เกิดขึ้นจึงเป็นไปในลักษณะที่สนุกสนาน หรือเป็นการร้องเกี้ยวพาราสีกัน เช่น เพลงเรือ เพลงเกี่ยวข้าว หรือเป็นการแสดงพื้นเมืองที่สื่อให้เห็นการประกอบอาชีพ

การแสดงพื้นเมืองภาคกลาง ได้แก่

- รำโทน เป็นการรำ และการร้องของชาวบ้าน โดยมีโทนเป็นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะ เป็นการร้อง และการรำไปตามความถนัด ไม่มีแบบแผนหรือท่ารำที่กำหนดแน่นอน

- รำกลองยาว เป็นการแสดงเพื่อความรื่นเริง ในขบวนแห่ต่างๆ ของไทยมีผู้แสดงทั้งชาย และหญิง ออกมรำเป็นคู่ๆ โดยมีผู้ตีกลองประกอบจังหวะ พร้อม ฉิ่ง ฉาบ กรับ และโหม่ง

- ระบำชาวนา เป็นวิถีชีวิตความเป็นมาที่พากันออกมาไถนาหว่าน และเก็บเกี่ยวเมื่อข้าวเจริญงอกงาม หลังจากนั้นพากันร้องรำเพลงด้วยความสนุกสนาน

- เต้นกำรำเคียว เป็นการแสดงพื้นเมืองของจังหวัดนครสวรรค์ นิยมเล่นกันตามท้องนา ผู้แสดงทั้งชายและหญิงถือเคียวมือหนึ่งถือถือรวงข้าว ร้องเกี้ยวพาราสีกันอย่างสนุกสนาน

- รำเหย่อย หรือรำพาดผ้า เป็นการละเล่นที่แสดงวิธีชีวิตอันสนุกของชาวบ้านหมู่บ้านเก่า ตำบลจระเข้เผือก อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เป็นการร้องรำ เกี้ยวพาราสีระหว่างชาย-หญิง เริ่มการแสดงด้วยการประโคมกลองยาว จบแล้วผู้แสดงชาย-หญิง ออกรำทีละคู่

การแสดงพื้นเมืองภาคอีสาน   ศิลปะการแสดงภาคอีสาน จะมีลักษณะคล้ายภาคเหนือ ในการรวมกลุ่มของชนชาติต่างๆ เช่นพวกไทยลาว ภูไทย ไทยพวน แสก โซ่ แต่ละกลุ่มมีลักษณะแตกต่างตามเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ แต่ยังมีลักษณะคล้ายคลึงกันเป็นการแสดงที่เกิดขึ้นเพื่อพิธีกรรมทางศาสนา และความสนุกสนานรื่นเริงในเทศกาลต่างๆ  การร่ายรำจะมีลักษณะเฉพาะของการเคลื่อนไหวอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น ก้าวเท้า การวาดแขน การยกเท้า การส่ายมือ การส่ายสะโพก ที่เกิดขึ้นจากท่าทางอันเป็นธรรมชาติที่ปรากฏอยู่ในชีวิตประจำวัน แล้วนำมาประดิษฐ์หรือปรุงแต่งให้สวยงามตามแบบท้องถิ่นอีสานเช่นทำท่าทางลักษณะเเอ่นตัวแล้วโยกตัวไปมา เวลาก้าวตามจังหวะก็มีการกระแทกกระทั้นตัว ดีดขา ขยับเอว ขยับไหล่ เน้นความสนุกสนาน
     การแสดงพื้นเมืองภาคอีสาน แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมของชนพื้นเมืองกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่  การแสดงพื้นเมืองภาคอีสานจะมีทั้งการแสดงที่เป็นแบบดั่งเดิมที่มีการสืบทอดกันมา และการแสดงที่เกิดขึ้นในแต่ละท้องถิ่นเป็นไปตามความถนัดหรือความสามารถของแต่ละคน โดยไม่มีระเบียบแบบแผน

การแสดงพื้นเมืองภาคอีสาน ได้แก่

- กันตรึม เป็นการแสดงเพื่อบูชาหรือบูชาหรือบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใช้ในงานพิธีกรรมต่างๆ

- ฟ้อนภูไท เป็นการฟ้อนเพื่อบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือเพื่อแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ และฟ้อนในงานประเพณีต่างๆ

- เซิ้งตังหวาย เป็นการแสดงเพื่อถวายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือในงานพิธีกรรมต่างๆ

- เซิ้งบั้งไฟ เป็นการฟ้อนในพิธีบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และในพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการขอฝน

- เรือมจับกรับ เป็นการแสดงที่ใช้ผู้ชายถือกรับออกมาร่ายรำไปตามจังหวะเพลงโดยไม่มีแบบแผน หรือทำท่าที่แน่นอน เป็นการรำเพื่อความสนุกสนาน

- เรือมอันเร หรือ กระทบไม้ บางทีก็เรียกว่า แสกเต้นสาก เป็นการแสดงที่ใช้ไม้ไผ่มากระทบกันตามจังหวะเพลง แล้วผู้รำก็กระโดดข้ามไม้ด้วยท่าทางต่างๆ

- มวยโบราณ เป็นศิลปะการต่อสู้ที่แสดงถึงความกล้าหาญ เข้มแข็ง นิยมแสดงในเทศกาลต่างๆ  

การแสดงพื้นเมืองของกรมศิลปากร  ปัจจุบันการแสดงพื้นเมืองมีอยู่มากมายตามภูมิภาคต่างๆ มีทั้งที่เป็นแบบแผนดั้งเดิม  และแบบที่คิดขึ้นใหม่ เพราะสาเหตุแห่งความนิยมทางวัฒนธรรมพื้นเมือง ด้วยการแลกเปลี่ยนในรูปแบบของการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ  และการแสดงวัฒนธรรมสี่ภาค รวมทั้งการศึกษาในเชิงเปรียบเทียบ หรือแม้กระทั้งการแสดงเพื่อเป็น เอกลักษณ์ของจังหวัด มาให้การแสดงพื้นเมืองเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย กอปรกับผู้เชี่ยวชาญด้านนาฏศิลป์ของกรมศิลปากรได้รับความรู้ด้านการแสดงพื้นเมือง  นำมาถ่ายทอด และฝึกหัด  เพื่อใช้สำหรับการแสดงในงานต่างๆ  ทำให้ชุดการแสดงพื้นเมืองเป็นที่นิยมแพร่หลาย ซึ่งเมื่อกรมศิลปากรนำมาจัดแสดงจะมีทั้งที่เป็น

แบบแผนดั้งเดิม และแบบที่ปรับปรุงขึ้นใหม่

๓.๑  แบบดั้งเดิม

        เป็นการแสดงพื้นเมืองที่เกิดขึ้นในชนบทของทุกภาคของประเทศไทย สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรม และสภาพของสังคม รวมทั้งการดำรงชีวิตความเป็นอยู่ในแต่ละท้องถิ่น ที่มีความแตกต่างกันตามลักษณะภูมิอากาศ ออกมาเป็นการแสดงในรูปแบบของการละเล่นกันในกลุ่มชนเพื่อพิธีการ เพื่อความสนุกสนาน หรือเพื่อเทศกาลที่สำคัญๆ ได้แก่

-         รำโนรา                                                                                           

-         กลองสะบัดชัย

-         ฟ้อนเล็บ

-         ฟ้อนเทียน

-         ฟ้อนเงี้ยว

-         ฟ้อนเจิง

-          รำสิละ

-         ฟ้อนภูไท

-         เซิ้งกระติ๊บข้าว

-         รำโทน

-         รำแม่ศรี

-         เรือมจับกรับ

-         เซิ้งกะโป๋   

-         เซิ้งบั้งไฟ

-         เซิ้งตังหวาย

 

๓.๒    แบบที่กรมศิลปากรประดิษฐ์ขึ้นใหม่

        เป็นการแสดงพื้นเมืองที่กรมศิลปากรนำมาปรับปรุง  และประดิษฐ์ขึ้นใหม่ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมทั้งในด้านความสวยงาม และระยะเวลาในการแสดงให้มีความกระชับ และรวดเร็ว ซึ่งเป็นชุดการแสดงที่ได้รับความนิยมแพร่หลายมาจนถึงปัจจุบัน ได้แก่

-         ฟ้อนแพน

-         ฟ้อนสาวไหม

-         ฟ้อนมาลัย

-         ฟ้อนดวงเดือน

-         ฟ้อนจันทราพาฝัน

-         ระบำตารีกีปัส

-         ระบำร่อนแร่

-         รำซัดชาตรี

-         ระบำศิลปากร

-         ระบำเก็บใบชา

-         ระบำชาวนา

-         ระบำสี่ภาค

-         ระบำไตรภาคี

-         ระบำตรีลีลา

-         เซิ้งโปงลาง                    

-         เซิ้งอีสาน

-         เซิ้งสวิง

-         เซิ้งกระหยัง

-         เซิ้งสราญ

 

การประดิษฐ์ท่ารำในการการแสดงนาฎศิลป์

      ศิลปะการฟ้อนรำจะประกอบด้วยท่าทางการร่ายรำเป็นหลักในการฟ้อนรำจึงมีการคิดประดิษฐ์ดัดแปลงท่ารำต่าง ๆ ให้วิจิตรพิสดารและสวยงามกว่าธรรมดา  โดยให้สอดคล้องผสมกลมกลืนไปกับศิลปะที่เป็นส่วนประกอบอื่น ๆ เช่น  เพลงดนตรี  และคำร้อง  เป็นต้น  
      การประดิษฐ์ดัดแปลงกิริยาท่าทางเป็นการสื่อภาษาอย่างหนึ่งเช่นเดียวกับถ้อยคำท่าทางที่แสดงออกมาแบ่งได้เป็น  3  ประเภท  คือ  ท่าที่ใช้แทนคำพูด  เช่น  รัก  ปฏิเสธ  สั่งเรียก  ท่าที่เป็นกิริยาอาการ  เช่น  ยืน  นอน  และการกระทำอื่น ๆ และท่าที่แสดงออกถึงอารมณ์ภายในของคนเราว่าเป็นอย่างไร  
เช่น  รัก  โกรธ  ดีใจ  โศกเศร้า  เป็นต้น  ซึ่งลักษณะท่าทางทั้ง  3  ประเภท  มีความคาบเกี่ยวกันอยู่จะแยกให้เด็ดขาดลงไปเลยไม่ได้การสื่อความหมายรู้กันด้วยสายตาและเป็นศิลปะการฟ้อนรำจำเป็นต้องมุ่ง  ให้รำได้งดงามเรียกว่า “สุนทรียรส”  ซึ่งเป็นหลักสำคัญของศิลปะ


 

บทที่ 3 ละครไทย

ความเป็นมาของละครไทย 

        

          ละครไทยมีประวัติความเป็นมาในแต่ละสมัย ดังนี้

1)สมัยก่อนสุโขทัย มีหลักฐานว่าในสมัยโบราณก่อนตั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี บริเวณที่เป็นในประเทศโทยในปัจจุบันการแสดงมาแล้ว สันนิษฐานว่าเรื่องแรกๆที่นำมา
ใช้ในการแสดงน่าจะเป็นละครเรื่องมโนห์รา
2) สมัยสุโขทัย มีการแสดงละครแก้บน และมีการแสดงละครเรื่องมโนห์ราสืบต่อกันมาจากสมัยก่อนน่านี้
3) สมัยอยุธยา มีละครเกิดขึ้น 3 ชนิด คือ ละครชาตรี ละครนอก ละครใ สำหรับละครในสันนิษฐานว่าเกิดขึ้นในระหว่างรัชกาลสมเด็จเทพราชา และรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่
หัวบรมโกศ
4) สมัยกรุงธนบุรี มีละครของเอกชนขึ้นหลายโรง นอกจากนี้ยังมีละครขณะผู้หญิงของเจ้าละครศรีธรรมราชที่นำมาแสดงในราชสำนักธนบุรีด้วย
5) สมัยรัตนโกสินทร์ ศิลปะโขน ละคร ฟ้อนรำ เจริญรุ่งเรีองมาในราชการที่2 และในสมัยราชการลที่ 6 ซึ่งในสมัยราชการลที่ 6 นี้ พระองค์ทรงโปรดฯ ให้ตั้งกรมมหรสพขึ้น
ต่อมาในสมัยราชกาลที่ 7 ได้มีการโอนศิลปินมาสังกัดกรมศิลปากร จนในปัจจุบันได้มีสถานการศึกษาหลายแห่งเป็นสถานที่ผลิตครูและนักศึกษาทางศิลปะการแสดง
ในสาขาต่างๆ ออกมาเป็นจำนวนมากทั้งโขน ละคร ฟ้อน รำ 


ละครดึกดำบรรพ์
ละครดึกดำบรรพ์ เป็นละครที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ กำเนิดขึ้น ณ บ้านเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ ( ม.ร.ว. หลาน กุญชร ) โดยแสดง ณ โรงละครของท่านที่ตั้งชื่อว่า "โรงละครดึกดำบรรพ์" เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ได้เดินทางไปยุโรปเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๔ และมีโอกาสได้ชมละครโอเปร่า (Opera) ซึ่งท่านชื่นชมการแสดงมาก เมื่อกลับมาจึงคิดทำละครโอเปร่าให้เป็นแบบไทย จึงเล่าถวาย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าพระยานริศรานุวัดติวงศ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าพระยานริศรานุวัดติวงศ์ก็โปรดเห็นว่าดี ในการสร้างละครดึกดำบรรพ์ครั้งนี้ นอกจากท่านจะเป็นผู้สร้างโรงละครดึกดำบรรพ์ สร้างเครื่องแต่งกาย และอุปกรณ์การแสดงแล้ว ท่านยังได้รับความร่วมมือจากผู้ร่วมงานที่สำคัญ ได้แก่
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงพระราชนิพนธ์บท และทรงเลือกสรรปรับปรุงทำนองเพลง ออกแบบฉาก และกำกับการแสดง
- หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ตาด ตาตะนันท์) เป็นผู้จัดทำนองเพลงควบคุมวงดนตรี และปี่พาทย์
- หม่อมเข็ม กุญชร ณ อยุธยา ภรรยาของเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ เป็นผู้ปรับปรุง ประดิษฐ์ท่ารำ และฝึกสอนให้เข้ากับบท และลำนำทำนองเพลง
ละครดึกดำบรรพ์ได้ออกแสดงครั้งแรกปี พ.ศ. ๒๔๔๒ เนื่องในโอกาสต้อนรับเจ้าชายเฮนรี่ พระอนุชาสมเด็จพระเจ้ากรุงปรัสเซีย ซึ่งเป็นพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ละครดึกดำบรรพ์ได้รับความนิยมตลอดมา จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๕๒ เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ เกิดอาการเจ็บป่วยถวายบังคมลาออกจากราชการ ทำให้ต้องเลิกการแสดงละครดึกดำบรรพ์ไป นับแต่เริ่มแสดงละครดึกดำบรรพ์จนเลิกการแสดงรวมระยะเวลา ๑๐ ปี
ผู้แสดง
ใช้ผู้หญิงล้วน ผู้ที่จะได้รับคัดเลือกให้แสดงละครดึกดำบรรพ์จะต้องมีความสามารถพิเศษด้วยคุณสมบัติ คือ
- เป็นผู้ที่มีเสียงดี ขับร้องเพลงไทยได้ไพเราะ
- เป็นผู้ที่มีรูปร่างงาม รำสวย ยิ่งผู้ที่จะแสดงเป็นตัวเอกของเรื่องด้วยแล้ว ต้องใช้ความพินิจพิเคราะห์อย่างมาก
การแต่งกาย
เหมือนอย่างละครในที่เรียกว่า "ยืนเครื่อง" นอกจากบางเรื่องที่ดัดแปลงเพื่อความเหมาะสม และให้ตรงกับความเป็นจริง

เรื่องที่แสดง
ที่เป็นบทละครบางเรื่อง และบางตอน พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้แก่ เรื่องสังข์ทอง เรื่องคาวี ตอนสามหึง เรื่องอิเหนา ตอนไหว้พระ เรื่องสังข์ศิลป์ชัยภาคต้น เรื่องกรุงพานชมทวีป เรื่องรามเกียรติ์ เรื่องอุณรุฑ เรื่องมณีพิชัย
- บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้แก่ เรื่องศกุนตลา เรื่องท้าวแสนปม เรื่องพระเกียรติรถ
- บทพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย ได้แก่ เรื่องสองกรวรวิก เรื่องจันทกินรี เรื่องพระยศเกตุ
การแสดง
จะผิดแปลกจากละครแบบดั้งเดิม เพราะผู้แสดงต้องร้องเองรำเอง ไม่มีบรรยายกิริยาของตัวละคร ได้มีการปรับปรุงการแสดงความเป็นไปในเนื้อเรื่องของละครดึกดำบรรพ์ พยายามแสดงให้สมจริงสมจังมากที่สุด มีการตกแต่งฉาก และสถานที่ ใช้แสง สี เสียง ประกอบฉาก นับเป็นต้นแบบในการจัดฉากประกอบการแสดงของโขน - ละครต่อมา การแสดงมักแสดงตอนสั้นๆให้ผู้ชมละครชมแล้วอยากชมต่ออีกดนตรี
ใช้ปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ เพื่อความไพเราะนุ่มนวล โดยการผสมวงดนตรีขึ้นใหม่ และคัดเอาสิ่งที่มีเสียงแหลมเล็กหรือดังมากๆออกเหลือไว้แต่เสียงทุ้ม ทั้งเพิ่มเติมสิ่งที่เหมาะสมเข้ามา เช่น ฆ้องหุ่ยมี ๗ ลูก ๗ เสียง ต่อมาเรียกว่า "วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์"
เพลงร้อง
นำมาจากบทละคร โดยปรับปรุงหลายอย่าง คือ
- ตัดคำว่า "เมื่อนั้น" "บัดนั้น" เมื่อจะกล่าวถึงใครออก โดยให้ตัวละครรำใช้บทเพื่อให้เข้าใจว่าใครเป็นผู้พูด
- คัดเอาแต่บทเจรจาไว้ โดยยกบทเจรจามาร้องรำ ให้ตัวละครร้องโต้ตอบกันเอง
- ไม่มีบทที่กล่าวถึงกิริยาของตัวละครว่า จะนั่ง จะเดินซ้ำอีก ทำให้ผู้แสดงไม่เคอะเขิน
- บรรยายภาพไว้ในบทร้อง ประกอบศิลปะการรำ
- ไม่มีคำบรรยาย
- บทโต้ตอบ ทุ่มเถียง วิวาท ใช้บทเจรจาเป็นกลอนแทน และเจรจาเหมือนจริง
- มีการนำทำนองเสนาะในการอ่านโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน มาใช้
- มีการนำเพลงพื้นเมือง เพลงชาวบ้าน การละเล่นของเด็กมาใช้
- มีการเจรจาแทรกบทร้องโดยรักษาจังหวะตะโพนให้เข้ากับบทร้อง และอื่นๆ
สถานที่แสดง
มักแสดงตามโรงละครทั่วไป เพราะต้องมีการจัดฉากประกอบให้ดูสมจริงมากที่สุด
ละครพันทาง
ละครพันทาง เป็นละครแบบผสม ผู้ให้กำเนิดละครพันทางคือ เจ้าพระยามหินทร์ศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) ท่านเป็นเจ้าของคณะละครมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ แต่เพิ่งมาเป็นหลักฐานมั่นคงในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งแต่เดิมก็แสดงละครนอก ละครใน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ ท่านไปยุโรปจึงนำแบบละครยุโรปมาปรับปรุงละครนอกของท่าน ให้มีแนวทางที่แปลกออกไป ละครของท่านได้รับความนิยมมากในปลายรัชกาลที่ ๕ และสิ่งที่ท่านได้สร้างให้เกิดในวงการละครของไทย คือ
- ตั้งชื่อโรงละครแบบฝรั่งเป็นครั้งแรก เรียกว่า "ปรินซ์เทียเตอร์"
- ริเริ่มแสดงละครเก็บเงิน (ตีตั๋ว) ที่โรงละครเป็นครั้งแรก
- การแสดงของท่านก่อให้เกิดคำขึ้นคำหนึ่ง คือ "วิก" เหตุที่เกิดคำนี้คือ ละครของท่านแสดงสัปดาห์ละครั้ง คนที่ไปดูก็ไปกันทุกๆสัปดาห์ คือ ไปดูทุกๆวิก มักจะพูดกันว่าไปวิก คือ ไปสุดสัปดาห์ด้วยการไปดูละครของท่านเจ้าพระยา
เมื่อท่านถึงแก่อสัญกรรม โรงละครของท่านตกเป็นของบุตร คือ เจ้าหมื่นไวยวรนาถ (บุศย์) ท่านผู้นี้เรียกละครของท่านว่า "ละครบุศย์มหินทร์" ละครโรงนี้ได้ไปแสดงในยุโรปเป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยไปแสดงที่เมืองปีเตอร์สเบิร์ก ในประเทศรัสเซีย ในสมัยรัชกาลที่ ๕ นี้มีคณะละครต่างๆเกิดขึ้นมากมาย ต่อมาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงพระราชนิพนธ์บทละครบทละครเรื่อง "พระลอ (ตอนกลาง)" นำเข้าไปแสดงถวายรัชกาลที่ ๕ ทอดพระเนตร ณ พระที่นั่งอภิเษกดุสิต เป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ได้ทรงตั้งคณะละครขึ้นชื่อว่า "คณะละครหลวงนฤมิตร" ได้ทรงนำพระราชพงศาวดารไทยมาทรงพระนิพนธ์เป็นบทละคร เช่น เรื่องวีรสตรีถลาง คุณหญิงโม ขบถธรรมเถียร ฯลฯ ทรงใช้พระนามแฝงว่า "ประเสริฐอักษร" ปรับปรุงละครขึ้นแสดง โดยใช้ท่ารำของไทยบ้าง และท่าของสามัญชนบ้าง ผสมผสานกัน เปลี่ยนฉากไปตามเนื้อเรื่อง เรียกว่า "บทละครพระราชพงศาวดาร" และเรียกละครชนิดนี้ว่า "ละครพันทาง"
ผู้แสดง
มักนิยมใช้ผู้แสดงชาย และหญิงแสดงตามบทบาทตัวละครที่ปรากฏในเรื่อง
การแต่งกาย
ไม่แต่งกายตามแบบละครรำทั่วไป แต่จะแต่งกายตามลักษณะเชื้อชาติ เช่น แสดงเกี่ยวกับเรื่องมอญ ก็จะแต่งแบบมอญ แสดงเกี่ยวกับเรื่องพม่า ก็จะแต่งแบบพม่า เป็นต้น
เรื่องที่แสดง
ส่วนมากดัดแปลงมาจากบทละครนอก เรื่องที่แต่งขึ้นในระยะหลังก็มี เช่น พระอภัยมณี เรื่องที่แต่งขึ้นจากพงศาวดารของไทยเอง และของชาติต่างๆ เช่น จีน แขก มอญ ลาว ได้แก่ เรื่องห้องสิน ตั้งฮั่น สามก๊ก ซุยถัง ราชาธิราช เป็นต้น นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องที่ปรับปรุงจากวรรณคดีเก่าแก่ของภาคเหนือ เช่น พระลอ
การแสดง
ดำเนินเรื่องด้วยคำร้อง เนื่องจากเป็นละครแบบผสมดังกล่าวแล้ว ประกอบกับเป็นละครที่ไม่แน่นอนว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ดังนั้นบางแบบต้นเสียง และคู่ร้องทั้งหมดเหมือนละครนอก ละครใน บางแบบต้นเสียงลูกคู่ร้องแต่บทบรรยายกิริยา ส่วนบทที่เป็นคำพูด ตัวละครจะร้องเองเหมือนละครร้อง มีบทเจรจาเป็นคำพูดธรรมดาแทรกอยู่บ้าง ดังนั้นการที่จะทำให้ผู้ชมรู้เรื่องราว และเกิดอารมณ์ต่างๆจึงอยู่ที่ถ้อยคำ และทำนองเพลงทั้งสิ้น ส่วนท่าทีการร่ายรำมีทั้งดัดแปลงมาจากชาติต่างๆผสมเข้ากับท่ารำของไทย
ดนตรี
มักนิยมใช้วงปี่พาทย์ไม้นวม เรื่องใดที่มีท่ารำ เพลงร้อง และเพลงดนตรีของต่างชาติผสมอยู่ด้วย ก็จะเพิ่มเครื่องดนตรีอันเป็นสัญลักษณ์ของภาษานั้นๆ เรียกว่า "เครื่องภาษา" เข้าไปด้วยเช่น ภาษาจีนก็มีกลองจีน กลองต๊อก แต๋ว ฉาบใหญ่ ส่วนพม่าก็มีกลองยาวเพิ่มเติมเป็นต้น
เพลงร้อง
ที่ใช้ร้องจะเป็นเพลงภาษา สำหรับเพลงภาษานั้นหมายถึงเพลงประเภทหนึ่งที่คณาจารย์ดุริยางคศิลปได้ประดิษฐ์ขึ้น จากการสังเกต และการศึกษาเพลงของชาติต่างๆ ว่ามีสำเนียงเช่นใด แล้วจึงแต่งเพลงภาษาขึ้นโดยใช้ทำนองอย่างไทยๆ แต่ดัดแปลงให้มีสำเนียงของภาษาของชาตินั้นๆหรืออาจจะนำสำเนียงของภาษานั้นๆมาแทรกไว้บ้าง เพื่อนำทางให้ผู้ฟังทราบว่า เป็นเพลงสำเนียงอะไร และได้ตั้งชื่อเพลงบอกภาษานั้นๆ เช่น มอญดูดาว จีนเก็บบุปผา ลาวชมดง ลาวรำดาบ แขกลพบุรี เป็นต้น คนร้องซึ่งมีตัวละคร ต้นเสียง และลูกคู่ จะต้องเข้าใจในการแสดงของละคร เพลงร้อง และเพลงดนตรีเป็นอย่างดี
สถานที่แสดง
แสดงบนเวที มีการจัดฉากไปตามท้องเรื่องเช่นเดียวกับละครดึกดำบรรพ์
ละครชาตรี
ละครชาตรี นับเป็นละครที่มีมาแต่สมัยโบราณ และมีอายุเก่าแก่กว่าละครชนิดอื่นๆ มีลักษณะเป็นละครเร่คล้ายของอินเดียที่เรียกว่า "ยาตรี" หรือ "ยาตราซึ่งแปลว่าเดินทางท่องเที่ยว ละครยาตรานี้คือละครพื้นเมืองของชาวเบงคลีในประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นละครเร่ นิยมเล่นเรื่อง "คีตโควินท์" เป็นเรื่องอวตารของพระวิษณุ ตัวละครมีเพียง ๓ ตัว คือ พระกฤษณะ นางราธะ และนางโคปี ละครยาตราเกิดขึ้นในอินเดียนานแล้ว ส่วนละครรำของไทยเพิ่งจะเริ่มเล่นในสมัยตอนต้นกรุงศรีอยุธยา จึงอาจเป็นได้ที่ละครไทยอาจได้แบบอย่างจากละครอินเดีย เนื่องจากศิลปวัฒนธรรมของอินเดียแพร่หลายมายังประเทศต่างๆในแหลมอินโดจีน เช่น พม่า มาเลเซีย เขมร และไทย จึงทำให้ประเทศเหล่านี้มีบางสิ่งบางอย่างคล้ายกันอยู่มาก
ในสมัยโบราณละครชาตรีเป็นที่นิยมแพร่หลายทางภาคใต้ของไทย เรื่องที่แสดงคงจะนิยมเรื่องพระสุธนนางมโนห์รา จึงเรียกการแสดงประเภทนี้ว่า "โนห์ราชาตรี" เพราะชาวใต้ชอบพูดตัดพยางค์หน้า สันนิษฐานว่าละครชาตรีได้แพร่หลายเข้ามายังกรุงรัตนโกสินทร์ ๓ ครั้ง คือ
ใน พ.ศ. ๒๓๑๒ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จยกทัพไปปราบเจ้านครศรีธรรมราช และพาขึ้นมากรุงธนบุรีพร้อมด้วยพวกละคร
ใน พ.ศ. ๒๓๒๓ ในวานฉลองพระแก้วมรกต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ละครของนครศรีธรรมราชขึ้นมาแสดงประชันกับละครหลวงผู้หญิงของหลวง
ใน พ.ศ. ๒๓๗๕ สมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) สมัยที่ยังเป็นเจ้าพระยาพระคลัง ได้ลงไปปราบ และระงับเหตุการณ์ร้ายทางหัวเมืองภาคใต้ พวกชาวใต้จึงอพยพติดตามขึ้นมาด้วย รวมทั้งพวกที่มีความสามารถในการแสดงละครชาตรี
นอกจากนี้ยังมีผู้สันนิษฐานว่า ต้นกำเนิดละครชาตรีมาจากกรุงศรีอยุธยาก่อน เดิมนั้นพระเทพสิงขร บุตรของนางศรีคงคา ได้หัดละครที่กรุงศรีอยุธยา ขุนสัทธาเป็นตัวละครของพระเทพสิงขร ได้นำแบบแผนละครลงไปหัดขึ้นในเมืองนครศรีธรรมราชเป็นปฐม จึงได้เล่นละครสืบต่อกันมา โดยมากในเวลานี้เราเข้าใจว่า "โนห์รา" เป็นแบบแผนการละครของชาวปักษ์ใต้ แต่ความจริงโนห์ราเป็นแบบแผนของกรุงศรีอยุธยาแท้ๆ เป็นแต่เสียงร้องเพี้ยนไปอย่างเสียงคนปักษ์ใต้เท่านั้น ในสมัยต่อมา การละครของกรุงศรีอยุธยาได้ก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่ทางปักษ์ใต้คงแสดงตามแบบเดิมอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้ ดังนั้นถ้าเราใคร่จะดูละครเป็นแบบกรุงศรีอยุธยาในสมัยต้นๆอย่างแท้จริงก็ต้องดูโนห์รา
ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ได้มีผู้คิดนำเอาละครชาตรีกับละครนอกมาผสมกัน เรียกว่า "ละครชาตรีเข้าเครื่อง" หรือ "ละครชาตรีเครื่องใหญ่" การแสดงแบบนี้บางทีก็มีฉากแบบละครนอก แต่บางครั้งก็ไม่มีฉากอย่างละครชาตรี ดนตรีที่ใช้ประกอบก็ใช้แบบผสม คือใช้เครื่องดนตรีของละครชาตรีผสมวงปี่พาทย์ของละครนอก การแสดงเริ่มด้วยการรำซัดชาตรี แล้วลงโรง จับเรื่องด้วย "เพลงวา" แบบละครนอก ส่วนเพลง และวิธีการแสดงก็ใช้ทั้งละครชาตรี และละครนอกปนกัน การแสดงแบบนี้ยังเป็นที่นิยมมาถึงปัจจุบัน และนิยมมาแสดงเป็นละครแก้บนตามสถานที่ต่างๆ
ผู้แสดง
ในสมัยโบราณจะใช้ผู้ชายแสดงล้วน มีตัวละครเพียง ๓ ตัว คือ ตัวนายโรง ตัวนาง และตัวตลก แต่มาถึงยุคปัจจุบันมักนิยมใช้ผู้หญิงเป็นผู้แสดงเสียส่วนใหญ่
การแต่งกาย
ละครชาตรีแต่โบราณไม่สวมเสื้อ เพราะทุกตัวใช้ผู้ชายแสดง ตัวยืนเครื่องซึ่งเป็นตัวที่แต่งกายดีกว่าตัวอื่นก็นุ่งสนับเพลา นุ่งผ้าคาดเจียระบาดมีห้อยหน้า ห้อยข้าง สวมสังวาล ทับทรวง กรองคอกับตัวเปล่า บนศีรษะสวมเทริดเท่านั้น การผัดหน้าในสมัยโบราณใช้ขมิ้นลงพื้นสีหน้าจนนวลปนเหลือง ไม่ใช่ปนแดงอย่างเดี๋ยวนี้ ส่วนการแต่งกายในสมัยปัจจุบันมักนิยมแต่งเครื่องละครสวยงาม เรียกตามภาษาชาวบ้านว่า "เข้าเครื่องหรือยืนเครื่อง"
เรื่องที่แสดง
ในสมัยโบราณ ละครชาตรีนิยมแสดงเรื่องจักรๆวงศ์ๆ โดยเฉพาะเรื่องพระสุธนนางมโนห์รา กับรถเสน (นางสิบสอง) นอกจากนี้ยังมี บทละครชาตรีที่นำมาจากบทละครนอก (สำนวนชาวบ้าน) ได้แก่ ลักษณวงศ์ ตอนถวายพราหมณ์ถึงฆ่าพราหมณ์เกสร แก้วหน้าม้า ตะเพียนทอง สังข์ทอง ตอนกำเนิดพระสังข์ วงษ์สวรรค์ - จันทวาท ตอนตรีสุริยาพบจินดาสมุทร โม่งป่า พระพิมพ์สวรรค์ สุวรรณหงส์ ตอนกุมภณฑ์ถวายม้า โกมินทร์ พิกุลทอง พระทิณวงศ์ กายเพชร กายสุวรรณ อุณรุฑ พระประจงเลขา จำปาสี่ต้น ฯลฯ เรื่องเหล่านี้เป็นที่นิยมกันมากในสมัย ๖๐ ปีมาแล้ว ต้นฉบับบางเรื่องยังหาไม่พบก็มี
การแสดง
เริ่มต้นจะต้องทำพิธีบูชาครูเบิกโรง หลังจากนั้นปี่พาทย์ก็โหมโรงชาตรี ตัวยืนเครื่องออกมารำซัดหน้าบทตามเพลง การรำซัดนี้สมัยโบราณขณะร่ายรำผู้แสดงจะต้องว่าอาคมไปด้วย เพื่อป้องกันเสนียดจัญไร และการกระทำย่ำยีต่างๆ วิธีเดินวนรำซัดก่อนแสดงนี้จะรำเวียนซ้าย เรียกว่า "ชักใยแมงมุม" หรือ "ชักยันต์" ต่อจากรำซัดหน้าบทเวียนซ้ายแล้วก็เริ่มจับเรื่อง ตัวแสดงขึ้นนั่งเตียงแสดงต่อไป การแสดงละครชาตรีตัวละครร้องเองไม่ต้องมีต้นเสียง ตัวละครที่นั่งอยู่ที่นั้นก็เป็นลูกคู่ไปในตัว และเมื่อเลิกการแสดงจะรำซัดอีกครั้งหนึ่ง ว่าอาคมถอยหลัง รำเวียนขวาเรียกว่า "คลายยันต์" เป็นการถอนอาถรรพ์ทั้งปวง
ดนตรี
วงดนตรีปี่พาทย์ที่ประกอบการแสดงมี ปี่ สำหรับทำทำนอง ๑ โทน ๒ กลองเล็ก (เรียกว่า "กลองชาตรี") ๒ และฆ้อง ๑ คู่ แต่ละครชาตรีที่มาแสดงกันในกรุงเทพฯ นี้ มักตัดเอาฆ้องคู่ออกใช้ม้าล่อแทน ซึ่งเป็นประเพณีสืบต่อกันมา และบางครั้งก็ยังใช้กลองแขกอีกด้วย
เพลงร้อง
ในสมัยโบราณตัวละครมักเป็นผู้ด้นกลอน และร้องเป็นทำนองเพลงร่าย และปัจจุบันเพลงร้องมักมีคำว่า "ชาตรี" อยู่ด้วย เช่น ร่ายชาตรี ร่ายชาตรีกรับ ร่ายชาตรี รำชาตรี ชาตรีตะลุง
สถานที่แสดง
ใช้บริเวณบ้าน ที่กลางแจ้ง หรือศาลเจ้าก็ได้ ไม่ต้องมีสิ่งใดประกอบมากมาย แม้ฉากก็ไม่ต้องมี บริเวณที่แสดงนอกจากมีหลังคาไว้บังแดดบังฝนตามธรรมดา โบราณใช้เสา ๔ ต้น ปัก ๔ มุม เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีเตียง ๑ เตียง จะลงเสากลางซึ่งถือว่าเป็นเสามหาชัย อีก ๑ เสา เสานี้สำคัญมาก (ในสมัยก่อนจะต้องใช้ไม้ชัยพฤกษ์) เป็นเสาที่พระวิสสุกรรมเสด็จมาประทับเพื่อปกป้องผองภัยอันตราย จึงได้ทำเสาผูกผ้าแดงปักไว้ตรงกลางดรง เสานี้ในภายหลังใช้เป็นที่ผูกซองคลี (ซองใส่ไม้รบต่างๆ) เพื่อสะดวกในการแสดงที่ตัวละครจะหยิบได้ตามความต้องการโดยรวดเร็ว
ละครร้อง
ละครร้องเป็นศิลปการแสดงแบบใหม่ที่กำเนิดขึ้นในตอนปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเล้าเจ้าอยู่หัว ละครร้องได้ปรับปรุงขึ้นโดยได้รับอิทธิพลจากละครต่างประเทศ ละครร้องนั้นต้นกำเนิดมาจากการแสดงของชาวมลายู เรียกว่า "บังสาวัน" (Malay Opera) ได้เคยเล่นถวายรัชกาลที่ ๕ ทอดพระเนตรครั้งแรกที่เมืองไทรบุรี และต่อมาละครบังสาวันได้เข้ามาแสดงในกรุงเทพฯ โรงที่เล่นอยู่ข้างวังบูรพา พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงแก้ไขปรับปรุงเป็นละครร้องเล่นที่โรงละครปรีดาลัย (เดิมสร้างอยู่ในวังของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ถนนตะนาว) คณะละครของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์นี่ต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนเรียกชื่อว่า "ละครหลวงนฤมิตร" บางครั้งคนยังนิยมเรียกว่า "ละครปรีดาลัย" อยู่ ต่อมาเกิดคณะละครร้องแบบปรีดาลัยขึ้นมากมายเช่น คณะปราโมทัย ปราโมทย์เมือง ประเทืองไทย วิไลกรุง ไฉวเวียง เสรีสำเริง บันเทิงไทย และนาครบันเทิง เป็นต้น ละครนี้ได้นิยมกันมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗ โรงละครที่เกิดครั้งหลังสุด คือ โรงละครนาคบันเทิงของแม่บุนนาค กับโรงละครเทพบันเทิงของแม่ช้อย
นอกจากนี้ได้เกิดละครร้องขึ้นอีกแบบหนึ่ง โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงดัดแปลงละครของชาวตะวันตก จากละครอุปรากรที่เรียกว่า "โอเปอเรติก ลิเบรตโต" (Operatic Libretto) มาเป็นละครในภาษาไทย และได้รับความนิยมอีกแบบหนึ่ง ละครร้องจึงแบ่งออกเป็น ๒ ชนิด คือ
๑. ละครร้องสลับพูด ใน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ละครร้องสลับพูด ใช้ผู้หญิงแสดงล้วน ยกเว้นตัวตลกหรือจำอวดที่เรียกว่า "ตลกตามพระ" ซึ่งใช้ผู้ชายแสดง มีบทเป็นผู้ช่วยพระเอกแสดงบทตลกขบขันจริงๆ เพื่อให้เกิดความสนุกสนาน
๒. ละครร้องล้วนๆ ใน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามกุฎราชกุมาร (รัชกาลที่ ๖ ) ละครร้องล้วนๆ ใช้ผู้ชาย และผู้หญิงแสดงจริงตามเนื้อเรื่อง
เรื่องที่แสดง
ละครร้องสลับพูด บทละครส่วนใหญ่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เป็นผู้พระนิพนธ์บท และกำกับการแสดง เรื่องที่แสดงได้แก่ ตุ๊กตายอดรัก ขวดแก้วเจียระไน เครือณรงค์ กากี ภารตะ สีป๊อมินทร์ (กษัตริย์ธีบอของพม่า) พระยาสีหราชเดโช โคตรบอง สาวเครือฟ้า ซึ่งดัดแปลงจากเรื่องมาดามบัตเตอร์พลาย (Madame Butterfly) อันเป็นเรื่องที่ได้รับความนิยม และมีผู้นำมาจัดแสดงเสมอ
ละครร้องล้วนๆ เรื่องที่แสดง คือ เรื่องสาวิตรี
การแสดง
ละครร้องสลับพูด มีทั้งบทร้อง และบทพูด ยึดถือการร้องเป็นส่วนสำคัญ บทพูดเจรจาสอดแทรกเข้ามาเพื่อทวนบทที่ตัวละครร้องออกมานั่นเอง แม้ตัดบทพูดออกทั้งหมดเหลือแต่บทร้องก็ยังได้เนื้อเรื่องสมบูรณ์ มีลูกคู่คอยร้องรับอยู่ในฉาก ยกเว้นแต่ตอนที่เป็นการเกริ่นเรื่องหรือดำเนินเรื่อง ลูกคู่จะเป็นผู้ร้องทั้งหมด ตัวละครจะทำท่าประกอบตามธรรมชาติมากที่สุด ซึ่ง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงเรียกว่า "ละครกำแบ"
ละครร้องล้วนๆ ตัวละครขับร้องโต้ตอบกัน และเล่าเรื่องเป็นทำนองแทนการพูด ดำเนินเรื่องด้วยการร้องเพลงล้วนๆ ไม่มีบทพูดแทรก มีเพลงหน้าพาทย์ประกอบอิริยาบถของตัวละคร จัดฉากตามท้องเรื่อง ใช้เทคนิคอุปกรณ์แสงสีเสียงเพื่อสร้างบรรยากาศให้สมจริง
ดนตรี
ละครร้องสลับพูด บรรเลงด้วยวงปี่พาทย์ไม้นวมหรืออาจใช้วงมโหรีประกอบ ในกรณีที่ใช้แสดงเรื่องเกี่ยวกับชนชาติอื่นๆ
ละครร้องล้วนๆ บรรเลงด้วยวงปี่พาทย์ไม้นวม
เพลงร้อง
ละครร้องสลับพูด ใช้เพลงชั้นเดียวหรือเพลง ๒ ชั้น ในขณะที่ตัวละครร้องใช้ซออู้คลอตามเบาๆ เรียกว่า "ร้องคลอ"
ละครร้องล้วนๆ ใช้เพลงชั้นเดียวหรือเพลง ๒ ชั้น ที่มีลำนำทำนองไพเราะ
สถานที่แสดง มักแสดงตามโรงละครทั่วไป
        ละครหลวงวิจิตรวาทการ
          หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. ๒๔๗๕ กรมศิลปากรได้รวบรวมศิลปิน โขน ละคร และนักดนตรี เข้ามา   รวมกันใหม่อีกครั้งหนึ่ง ตั้งเป็นกองขึ้นในกรมศิลปากร ทั้งได้ตั้งโรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์ขึ้นฝึกฝนนักเรียนด้วย เพื่อรักษาศิลปของชาติไว้มิให้เสื่อมสูญ ในระยะนี้หลวงวิจิตรวาทการ (กิมเหลียง วัฒนปฤดา) ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร ท่านเป็นทั้งนักการทูต และนักประวัติศาสตร์ ท่านจึงมองเห็นคุณค่าทางการละครที่จะใช้เป็นสื่อปลุกใจให้ประชาชนเกิดความรักชาติ เนื้อหาจะนำมาจากประวัติศาสตร์ตอนใดตอนหนึ่ง บทละครของท่านจะมีทั้งรัก รบ สะเทือนอารมณ์ ความรักที่มีต่อคู่รัก ถึงแม้จะมากมายเพียงไร ก็ไม่เท่ากับความรักชาติ ตัวเอกของเรื่องสละชีวิต พลีชีพเพื่อชาติ ด้วยเหตุที่ละครของท่านไม่เหมือนการแสดงละครที่มีอยู่ก่อน คนทั้งหลายจึงเรียกละครของท่านว่า "ละครหลวงวิจิตรวาทการ"
ผู้แสดง มักใช้ผู้แสดงทั้งผู้ชาย และผู้หญิง แสดงตามบทบาทในเรื่องที่กำหนด
การแต่งกาย
จะมีลักษณะคล้ายละครพันทาง คือจะแต่งกายตามเนื้อเรื่อง และให้ถูกต้องตามประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้นๆ
เรื่องที่แสดง
มักเป็นบทประพันธ์ของท่านที่แต่งขึ้นมีอยู่หลายเรื่องด้วยกันดังนี้ ราชมนู พระเจ้ากรุงธน ศึกถลาง เจ้าหญิงแสนหวี พระมหาเทวี เบญจเพส น่านเจ้า อนุสาวรีย์ไทย พ่อขุนผาเมือง ดาบแสนเมือง ชนะมาร เจ้าหญิงกรรณิการ์ สีหราชเดโช ตายดาบหน้า ลานเลือดลานรัก เพชรรัตน์ - พัชรา ลูกพระคเณศ ครุฑดำ โชคชีวิต อานุภาพพ่อขุนรามคำแหง อานุภาพแห่งความเสียสละ อานุภาพแห่งความรัก อานุภาพแห่งศีลสัตย์ และเลือดสุพรรณ
การแสดง
มักมีการแสดงต่างๆแทรกอยู่เป็นระยะๆ เช่น การรำอาวุธ การประลองอาวุธ การฟ้อนรำ และระบำต่างๆประกอบเพลง ตลอดจนมีการแสดง และร้องเพลงสลับฉาก นอกจากนี้การแสดงของท่านจะมีทั้งรำร้องเพลงไทยเดิม เพลงไทยสากล บางเรื่องผู้แสดงร้องเอง นอกจากนี้ละครหลวงวิจิตรวาทการยังมีลักษณะแปลก คือจะชวนเชิญให้ผู้ชมร้องเพลงในละครเรื่องนั้น ซึ่งเนื้อเพลงมีคติสอนใจ ปลุกใจให้รักชาติ จึงเป็นละครที่มีผู้นิยมมาก และจะได้รับแจกเนื้อเพลง สามารถนำมาร้องให้ลูกหลานฟังได้ ในสมัยต่อมาการแสดงฉากสุดท้ายตัวละครทุกตัวจะต้องออกแสดงหมด
ดนตรี
บรรเลงด้วยวงดนตรีไทย และวงดนตรีสากลประกอบกัน
เพลงร้อง
มีทั้งเพลงไทยเดิม และเพลงไทยสากล โดยมี ๓ ลักษณะ คือ เพลงไทยสากลที่ให้ตัวละครร้องโต้ตอบกัน มักเป็นเพลงรัก เพลงที่ให้ตัวละครร้องประกอบการแสดง และเพลงปลุกใจ


บทที่ 4 การชม วิจารณ์ และประเมินคุณภาพการแสดง


    นาฏศิลป์เป็นศิลปะการแสดงด้านวิจิตรศิลป์โดยรวมเอาศาสตร์แขนงต่างๆ ผสมกลมกลืนเข้าด้วยกัน นับว่าเป็นสารที่สื่อให้เห็นสุทรียะด้วยการมองและการได้ยินเสียงประเภทหนึ่ง 

     ดังนั้น หากต้องการวิจารณ์ผลงานนาฏศิลป์ ผู้วิจารณ์จำเป็นต้องมีความรู้ในศิลปะสาขาที่วิจารณ์ มีประสบการณ์เกี่ยวกับศิลปะ และมีความสามารถในการสื่อสารเป็นอย่างดี จึงจะส่งผลให้การวิจารณ์ผลงานนาฏศิลป์ออกมาตรงวัตถุประสงค์และมีคุณค่า

     โดยขั้นตอนการวิจารณ์การแสดงนาฏศิลป์ตามทฤษฎีการวิจารณ์อย่างสุนทรีย์ของราล์ฟ  สมิธ มีดังนี้

   ๑. การบรรยาย 


        ผู้วิจารณ์ต้องสามารถพูดหรือเขียนในสิ่งที่รับรู้ด้วยการฟัง ดู รู้สึก รวมทั้งการรับรู้คุณสมบัติต่างๆ ของการแสดง โดยสามารถบรรยายหรือแจกแจงส่วนประกอบต่างๆ ทั้งในลักษณะการเชื่อมโยงหลักเกณฑ์ศิลปะสาขาต่างๆ เข้าด้วยกัน หรือแยกแยะเป็นส่วนๆ

      ๒. การวิเคราะห์องค์ประกอบต่างๆ ในผลงานการแสดงนาฏศิลป์ของไทย ประกอบด้วย


๒.๑  รูปแบบของนาฏศิลป์ไทย เช่น ระบำ รำ ร้องและโขน เป็นต้น
๒.๒  ความเป็นเอกภาพของนาฏศิลป์ไทย โดยผู้แสดงต้องมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
๒.๓  ความงดงามของการร่ายรำและองค์ประกอบอื่นๆ ได้แก่ ความถูกต้องของแบบแผน
        การรำ ความงดงามของลีลาท่ารำ ความงดงามด้านวรรณกรรม ความงามของตัวละคร
        ลักษณะพิเศษในท่วงท่าลีลา เทคนิคเฉพาะตัวผู้แสดง บทร้องและทำนองเพลง
        เป็นต้น

      ๓. การตีความและการประเมินผล


        ผู้วิจารณ์จะต้องพัฒนาความคิดเห็นส่วนตัวประกอบกับความรู้ หลักเกณฑ์ต่างๆ มารองรับสนับสนุนความคิดเห็นของตนในการตีความ  ผู้วิจารณ์ต้องกล่าวถึงผลงานนาฏศิลป์โดยรวมว่าผู้เสนอผลงานพยายามจะสื่อความหมายหรือเสนอแนะเรื่องใด โดยต้องตีความการแสดงผลงานนาฏศิลป์นั้นให้เข้าใจ
        ส่วนการประเมินนั้นเป็นการตีค่าของการแสดงโดยต้องครอบคลุมประเด็น ดังนี้ แสดงได้ถูกต้องตามแบบแผน ผู้แสดงมีทักษะ สุนทรียะ มีความสามารถ และมีเทคนิคต่างๆ นอกจากนี้ ต้องประเมินรูปแบบลักษณะของงานนาฏศิลป์ ความคิดสร้างสรรค์  เป็นต้น










การแสดงพื้นเมืองภาคกลาง
เป็นศิลปะการร่ายรำและการละเล่นของชนชาวพื้นบ้านภาคกลาง ซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพเกี่ยวกับเกษตรกรรม ศิลปะการแสดงจึงมีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตและพื่อความบันเทิงสนุกสนาน เป็นการพักผ่อนหย่อนใจจากการทำงาน หรือเมื่อเสร็จจากเทศการฤดูเก็บเก็บเกี่ยว เช่น

 

เต้นกำรำเคียว     เป็นเพลงพื้นเมืองของชาวบ้านจังหวัดนครสวรรค์     นิยมเล่นตามท้องนาในฤดูกาลลงแขกเกี่ยวข้าว    ร้องเล่นกันเพื่อความรื่นเริงสนุกสนาน      ผ่อนคลายจากความเหน็ด


โอกาสที่เล่น  เล่นกันในฤดูเกี่ยวข้าว ขณะที่มีการเกี่ยวข้าวนั้น เขามักจะมีการร้องเพลงเกี่ยวข้าวไปด้วย โดยร้องแก้กันระหว่างฝ่ายชายกับฝ่ายหญิง และเมื่อหยุดพักการเกี่ยวข้าวประมาณตะวันบ่ายคล้อยแล้ว  การเต้นกำรำเคียวจึงเริ่มเล่น

วิธีการเล่น  จะแบ่งผู้เล่นเป็น  ๒  ฝ่าย  คือ ฝ่ายชาย  เรียกว่า  พ่อเพลง ฝ่ายหญิง เรียกว่า แม่เพลง เริ่มด้วยพ่อเพลงร้องชักชวนแม่เพลงให้ออกมาเต้นกำรำเคียว     โดยร้องเพลงและเต้นออกไปรำล่อ  ฝ่ายหญิงและแม่เพลงก็ร้องและรำแก้กันไป   ซึ่งพ่อเพลงแม่เพลงนี้อาจจะเปลี่ยนไปหลายๆ คน ช่วยกัน    ร้องจนกว่าจะจบเพลง  ส่วนผู้ที่ไม่ได้เป็นพ่อเพลงแม่เพลงก็ต้องเป็นลูกคู่

การแต่งกาย   ฝ่ายชายนุ่งกางเกงขาก๊วย  และเสื้อกุยเฮงสีดำ มีผ้าขาวม้าคาดเอว สวมงอบ   และ  จะไม่ใส่รองเท้า

ฝ่ายหญิงนุ่งโจงกระเบนและเสื้อแขนกระบอก    สีดำหรือเป็นสีพื้นก็ได้    และไม่สวมรองเท้าผู้แสดงทุกคนต้องถือเคียวในมือขวาและถือรวงข้าวในมือซ้ายด้วย

ดนตรีที่ใช้  ตามแบบฉบับของชาวบ้านแบบเดิมไม่มีดนตรีประกอบเพียงแต่ลูกคู่ทุกคนจะปรบมือ และร้อง เฮ้  เฮ้ว ให้เข้าจังหวะ
นาฏศิลป์พื้นเมืองภาคใต้

         การแสดงของภาคใต้มีลีลาท่ารำคล้ายกับการเคลื่อนไหวของร่างกายมากกว่าการฟ้อนรำ ซึ่งจะออกมาในลักษณะกระตุ้นอารมณ์ให้มีชีวิตชีวาและสนุกสนาน เช่น โนรา หนังตะลุง รองเง็ง ตารีกีปัส เป็นต้น



       โนรา หรือบางคนเรียกว่า มโนห์รา เป็นศิลปะการแสดงที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในภาคใต้ ลักษณะการเดินเรื่อง และรูปแบบของการแสดงคล้ายละครชาตรีที่นิยมเล่นกันแพร่หลายในภาคกลาง เดิมการแสดงโนราจะใช้เนื้อเรื่องจากวรรณคดีเรื่องพระสุธน-มโนห์รา 
โดยตัดตอนแต่ละตอนตั้งแต่ต้นจนจบมาแสดง เช่น ตอนกินรีทั้งเจ็ดเล่นน้ำในสระ ตอนพรานบุญจับนางมโนห์รา ตอนพรานบุญจับนาง
มโนห์ราไปถวายพระสุธน ฯ ปกติการแสดงโนราจะเริ่มจากนายโรงหรือโนราใหญ่ซึ่งเป็นตัวเอกหรือหัวหน้าคณะอออกมารำ "จับบทสิบสอง" คือ การรำเรื่องย่อต่าง ๆ สิบสองเรื่อง เช่น พระสุธน-มโนห์ราพระรถ-เมรี ลักษณวงศ์ เป็นต้น แต่หากผู้ว่าจ้างไปแสดงขอให้จับตอนใดให้จบเป็นเรื่องยาว ๆ ก็จะแสดงตามนั้น


ผู้แสดง เป็นชายล้วน คณะหนึ่ง ๆ จะมีประมาณ ๑๕-๒๐ คน แล้วแต่ขนาดของคณะ อาจมีถึง ๒๕ คน ก็ได้ ประกอบด้วย หัวหน้าคณะหรือนายโรงหรือโนราใหญ่ ๑ คน หมอไสยศาสตร์ ๑ คน ผู้รำอย่างน้อย ๖ คน อย่างมาก ๑๐ คน นายพราน (พรานบุญ) ๑ ทาสี (คนใช้ ตัวประกอบ ตัวตลก) ๑ คน นักดนตรี และลูกคู่จำนวน ๕-๖ คน ตาเสือ (ผู้ช่วยขนเครื่องและช่วยดูแลทั่วไป) ๑-๒ คน


         เครื่องดนตรี วงโนรา ประกอบด้วย กลองโนรา หรือทับโนรา โหม่ง ฉิ่ง ฉาบการแสดง โนราแต่เดิมจะแสดงบนพื้นดิน โดยใช้เสื่อปู ตัวโรงเป็นสี่เหลี่ยม มีหลังคามุงด้วยจาก มีเสากลาง ๑ ต้น มีแต่ไม้ไผ่สูงราว ๕๐ เซนติเมตร 
สำหรับตัวแสดงนั้น เรียกว่า "นัก" ด้านซ้ายและขวาของนักเป็นที่สำหรับดนตรีและลูกคู่นั่ง


         การแต่งกาย แบบดั้งเดิมจะแต่งกายเลียนแบบเครื่องทรงของกษัตริย์ ประกอบด้วย เทริด (ชฎา) สังวาล ปีกนกแอ่น หางหงส์ ทับทรวง สนับเพลา ชาวไหว ผ้าห้อยข้าง กำไลต้นแขน กำไลข้อมือ และสวมเล็บยาวไม่สวมเสื้อ เทริดจะสวมเฉพาะตัวนายโรงหรือโนราใหญ่เท่านั้น ส่วนนายพรานจะสวมหน้ากากเปิดคาง หน้ากากสีแดงสำหรับใช้ "ออกพราน" ส่วนหน้ากากพรานสีขาว จะใช้สำหรับนายพรานทาสี ตามความเชื่อและพิธีกรรมในการแสดง ถือว่าเป็นหน้าศักดิ์สิทธิ์ 


แต่เดิมการเดินทางไปแสดงที่ต่าง ๆ จะต้องเดินทางเท้า จึงเรียกว่า "โนราเดินโรง" ก่อนจะออกเดินทางนายโรงจะช่วยกันขนเครื่องที่จะใชแสดงมาวางไว้กลางบ้าน และหมอไสยศาสตร์จะทำพิธีพร้อมกับบรรเลงดนตรี เพื่อขอความเป็นสิริมงคล ระหว่างเดินทางผ่านสถานที่หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็จะบรรเลงดนตรีเป็นการแสดงคารวะและอาจมีการำถวายมือด้วย เมื่อถึงสถานที่ที่จะแสดงจะนำเอาอุปกรณ์ต่าง ๆ กองไว้กลางโรง เมื่อจะถึงเวลาแสดง หมอไสย
ศาสตร์มาปกปักรักษา อย่าให้มีอันตรายใด ๆ 
จากนั้นลูกคู่ก็จะลงโรง (โหมโรง) สักพักหนึ่งเมื่อคนดูหนาตาแล้ว นายโรงก็จะขับบทบูชาครู และผู้แสดงออกรำ โดยเริ่มจากผู้แสดงที่ยังไม่ค่อยเก่งไปจนถึงคนเก่ง ๆ และสุดท้ายก่อนนายโรงจะออก ตัวนายพรานหรือตัวทาสีหรือตัวตลก จะออกมาร้องตลก ๆ 
จากนั้นนายโรงหรือโนราใหญ่จะออกรำ ซึ่งทุกคนจะคอยดูโนราใหญ่ เพราะถือว่าเป็นผู้ที่รำสวยที่สุดเมื่อนายโรงรำจบ ก็อาจจะเลิกการแสดงหรืออาจแสดงต่อด้วยเรื่องสุธน มโนห์รา พระรถเมรี ฯลฯ หรือที่เรียกว่า "จับบทสิบสอง" จนดึก เมื่อโนราใหญ่หรือนายโรงถอดเทริดออก ก็เป็นอันจบการแสดง

ความยาวของการแสดงชุดนี้ ใช้เวลาแสดงประมาณ ๒-๓ ชั่วโมง




ขอบคุณ http://youtu.be/rnyr0kFr19w